การดูแลรักษาหม้อน้ำเบื้องต้น

หม้อน้ำ คือ อุปกรณ์ระบายความร้อน ของเครื่องยนต์ อาศัยปั๊มน้ำเป็นตัวหมุนเวียนน้ำ โดยจะรับน้ำร้อนมาจากเสื้อและฝาสูบเข้ามาสู่
ด้านบนของหม้อน้ำ ก่อนจะไหลไปตามท่อลักษณะแบนเล็กที่เชื่อมติดกับรังผึ้ง (ครีบระบายความร้อน) ทำจากวัสดุที่มีคุณสมบัติ
ถ่ายเทความร้อนได้ดีและรวดเร็ว เมื่อน้ำร้อนเหล่านี้ เคลื่อนตัวสู่ด้านล่าง ก็จะถ่ายเทความร้อนออกไปให้รังผึ้ง ขณะเดียวกันเมื่อมีลม
ปะทะจากภายนอก หรือพัดลมหม้อน้ำทำงาน ความร้อนที่รังผึ้งก็จะถูกระบายสู่อากาศ ให้เครื่องยนต์อยู่ในอุณหภูมิ
ที่เหมาะกับการทำงานระหว่าง 85-92 องศาเซลเซียส โดยจะมีวาวล์น้ำเป็นตัวเปิดปิดเพื่อรักษาอุณหภูมิร่วมด้วย

หมั่นตรวจดูระดับน้ำ

  – ควรตรวจดูระดับน้ำทุกๆ ครั้งก่อนสตาร์ตเครื่องยนต์ หรืออย่างน้อยทุกๆ 2-3 วัน สำหรับรถที่มีอายุเกิน 5 ปี และอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง สำหรับรถใหม่อายุไม่เกิน 5 ปี ซึ่งปรกติระดับน้ำควรอยู่ตรงคอหม้อน้ำพอดี หรืออยู่ระหว่างกึ่งกลางขีด MAX และ MIN สำหรับรถที่มีหม้อพักน้ำหมั่นตรวจดูรอยรั่วตามที่จุดต่าง ๆ อย่างเช่น ท่อยางหม้อน้ำ
ครีบรังผึ้ง ปั๊มน้ำ ฯลฯ หากพบรอยรั่วซึม ควรทำการซ่อมแซมแก้ไขทันที

ใช้น้ำสะอาดเท่านั้น

  -ให้เติมน้ำที่สะอาดลงไปในหม้อน้ำเท่านั้น เพื่อป้องกันมิให้หม้อน้ำ หรือทางเดินของหลอดรังผึ้งหม้อน้ำเกิดการอุดตัน ถ้าเป็นไปได้ น้ำที่เราใช้ดื่มดีที่สุดสำหรับใช้เติมหม้อน้ำ และควรถ่ายน้ำในหม้อน้ำทิ้งทุก ๆ 4-6 เดือน หรือเมื่อเห็นว่าน้ำในหม้อน้ำสกปรกมากแล้ว เช่น มีสนิมหรือคราบน้ำมัน

เช็คสายพานหน้าเครื่อง

– ตรวจดูสายพานหน้าเครื่อง ไม่ควรให้หย่อนหรือตึงเกินไป ตามปรกติเมื่อใช้มือกดลงบนสายพาน ควรยุบตัวลงประมาณ ½-1 นิ้ว
ตรวจดูครีบรังผึ้ง ของหม้อน้ำ อย่าให้พับงอปิดช่องทางผ่านของลม ไม่ควรให้สกปรกด้วยดินโคลนและคราบน้ำมัน เพราะจะทำให้ระบายความร้อนได้ยาก เครื่องยนต์อาจร้อนจัด และหากครีบพับงอ ให้ใช้ใบเลื่อยหรือโลหะบาง ๆ
ดัดให้ตรง หรือถ้าครีบสกปรกมากให้ทำความสะอาดโดยใช้ลมเป่า หรือน้ำร้อนที่มีความดันสูงพอพ่นย้อนทิศทางลมเข้า

ตรวจเช็คพัดลมระบายความร้อน

– พัดลมระบายความร้อนควรอยู่ในสภาพที่ดี ไม่แตกหัก หรือบิดงอเสียศูนย์ เพราะจะทำให้ปั๊มน้ำชำรุดได้ แต่ถ้าเป็นพัดลมไฟฟ้า ต้องคอยตรวจเช็คว่าพัดลมหมุนด้วยความเร็วเท่าเดิมหรือไม่ เพราะถ้าพัดลมหมุนด้วยรอบที่ช้าลงการระบายความร้อนให้หม้อน้ำรถยนต์ก็จะด้อยตามไปด้วย

ปิดฝาหม้อน้ำทุกครั้งหลังจากตรวจเช็คสภาพ

– ไม่ควรติดเครื่องยนต์โดยไม่ได้ปิดฝาหม้อน้ำเด็ดขาด เพราะจะทำให้เกิดตะกรันในหม้อน้ำและภายในเครื่องยนต์ เนื่องจากน้ำในรังผึ้งหม้อน้ำระเหยออกมา เมื่อเกิดตะกรันในหม้อน้ำ หรือบริเวณท่อทางเดินน้ำในเครื่องยนต์มาก ๆ จะเป็นผลให้เครื่องยนต์ร้อนจัด เพราะการระบายความร้อนไม่ดีพอ หมั่นดูแลเกจวัดความร้อนต้องอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ หากเสียใช้การไม่ได้ให้เปลี่ยนใหม่ทันที

ถ้าหม้อน้ำแห้ง ขณะขับรถ หรือเครื่องร้อน ไม่ควรรีบเติมน้ำในทันที

– หากน้ำในหม้อน้ำแห้ง ในขณะที่เครื่องยนต์กำลังทำงาน และมีอุณหภูมิสูง ไม่ควรดับเครื่องยนต์และเติมน้ำในทันที ให้ติดเครื่องเดินเบาสักระยะหนึ่ง พอให้อุณหภูมิเครื่องยนต์ลดลง แล้วค่อย ๆ เติมน้ำที่สะอาดลงไปทีละน้อยด้วยความระมัดระวัง